เงินพดด้วง

               เมื่อกล่าวถึง เงินโบราณ ของไทย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนเงินตราชนิดอื่นบนโลก และถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้จ่ายหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงรัชกาลที่ 4   หลายท่านคงนึกถึง  เงินพดด้วง ” (Bullet Money)

                การศึกษาเรื่องเงินพดด้วงในประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเอกสารสำคัญสมัยก่อนได้ถูกทำลายไปในครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา  ดังนั้น ทุกวันนี้นักสะสมจึงนิยมนำข้อมูลจากหนังสือ หรือคำบอกเล่าของนักสะสมรุ่นเก่ามาประมวลผล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสะสม จากการศึกษาเรื่องเงินพดด้วงทำให้เราทราบว่า เงินพดด้วง ผลิตขึ้นจากโลหะเงินสูงถึง 96%  และมีโลหะอื่นผสม เช่น ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เป็นต้น โดยลักษณะทั่วไปของเงินพดด้วงในแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นแม่ตราที่ใช้ตอก น้ำหนัก และรูปร่าง   ในส่วนของแม่ตราจะประกอบด้วย ตราหน้า (ตราประจำรัชกาล)  และตราบน (ตราประจำแผ่นดิน)   ด้านน้ำหนัก ในทุกชนิดราคาจะใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ยกเว้น ขนาดบาทสมัยสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาจะใช้ขนาดบาท น้ำหนักเท่ากับ 14 กรัม ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดบาทจะใช้น้ำหนักเท่ากับ 15 กรัม  ซึ่งในวงการนักสะสม จะนิยมแบ่งยุคสมัยของเงินพดด้วง ออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ สมัยสุโขทัย  สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

                ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงจะมีรูปร่างเป็นทรงผาย ไม่กลม มีรอยบากขนาดกว้าง มีรูที่ขา  แม่ตราที่ใช้ตอกลงบนเงินพดด้วงส่วนใหญ่ จะเป็นรูปสัตว์ เช่น กระต่าย วัว ช้าง ราชสีห์ (สิงห์)  เป็นต้น โดยผลิตขึ้นหลายชนิดราคาตั้งแต่  สองไพ  เฟื้อง สลึง สองสลึง บาท สองบาท และสี่บาท

                ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา รูปทรงของเงินพดด้วงมีการเปลี่ยนแปลง คือ รอยบากมีขนาดเล็กลง และไม่มีรอยบาก (ในระยะต่อมา)  เงินพดด้วงในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะประกอบด้วย ตราหลักทั้งหมด 10 ตรา ได้แก่ เงินพดด้วงตราพระซ่อมดอกไม้ เงินพดด้วงตราสมาธิ เงินพดด้วงตราอุทุมพร เงินพดด้วงตราก้านบัวเล็ก เงินพดด้วงตราพระนารายณ์ เงินพดด้วงตราครุฑ เงินพดด้วงตราก้านบัวใหญ่ เงินพดด้วงตราห้าจุด เงินพดด้วงตราบัวยันต์ และเงินพดด้วงตราราชวัตร 9 จุด

              โดยนอกจากตราหลักที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว ยังมีการค้นพบตราแปลก ที่พบเจอเพียงตราละ 1 -2 เม็ด เท่านั้น  ซึ่งพดด้วงตราพิเศษเหล่านี้ยังไม่มีชื่อเรียกในวงการสะสม  สำหรับเงินพดด้วงในสมัยนี้ มีการผลิตขึ้นหลายชนิดราคาเช่นกัน ตั้งแต่ ครึ่งไพ สองไพ เฟื้อง สลึง สองสลึง บาท และสองบาท  รวมถึงมีการผลิตเงินพดด้วงทองคำขึ้นใช้ด้วย คือ ตราหอยสังข์ (ขนาดสองไพ) ซึ่งพบเจอได้ยากมาก

               หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  และยังคงผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้ โดยใช้ “ตราตรีศูล” เป็นตราประจำรัชกาล  ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เงินพดด้วงตราตรีศูลนี้ ถูกพบในมือนักสะสมเพียงแค่ ชนิดราคาบาท และสองสลึงเท่านั้น

             สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เงินพดด้วงมีรูปร่างเป็นทรงกลม มีหลายชนิดราคาตั้งแต่ ครึ่งไพ จนถึงขนาดสี่บาท  และมีตราประทับในแต่ละรัชกาล ดังนี้

สมัยรัชกาลที่ 1 ตราอุณาโลม

 

 

สมัยรัชกาลที่ 2 ตราครุฑ

 

 

สมัยรัชกาลที่ 3 ตราปราสาท

 

 

สมัยรัชกาลที่ 4 ตรามงกุฎ และ ตราพระเต้า

 

 

            ในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 เศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทำให้การผลิตเงินพดด้วง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่าจะเพิ่มเจ้าที่หน้าที่ฝ่ายผลิตแล้วก็ตาม รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นแทนเงินพดด้วง  และเมื่อเหรียญกษาปณ์ถูกใช้อย่างนิยมแพร่หลาย รัชการที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศยกเลิกใช้เงินพดด้วง  และรับแลกคืนเงินพดด้วงกับเหรียญบาท ต่อเนื่องมาจนถึงครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2451

            ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงมีการผลิตเงินพดด้วงเป็นที่ระลึก เพื่อพระราชทานแก่ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในโอกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุ 28 พรรษา เสมอด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระบรมราชชนนีรัชกาลที่ 5 ขณะสิ้นพระชนม์  ในวงการสะสมเรียกเงินพดด้วงตรานี้ว่า “ตราช่อรำเพย”  พดด้วงตราช่อรำเพยผลิตขึ้นทั้งสิ้น 6 ชนิดราคา ได้แก่ 2 บาท 4 บาท 10 บาท 20 บาท 40 บาท และ 80 บาท (ขนาด 80 บาท ปัจจุบันนี้มีราคาสูงหลายล้านบาท)

             ณ ปัจจุบัน เงินพดด้วงกลายเป็นของสะสมหายาก และเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ทางร้าน Wincoin มีความยินดีที่จะให้คำปรึกษา  ประเมินราคา  และ รับซื้อเงินพดด้วง ด้วยประสบการณ์ในวงการสะสมกว่า 10 ปี ท่านจึงมั่นใจได้ว่า ของท่านจะได้รับการประเมินราคาสูงที่สุด สำหรับช่องทางในการส่งภาพเพื่อประเมินราคา  ท่านสามารถติดต่อได้ทาง Line id : @wincoin555 (มี @ นำหน้าด้วยครับ) หรือ โทร 096-818-8188 (คุณวิน) ได้ตลอด 24 ชม.ครับ

ใส่ความเห็น